บทที่ 7 ความหมายของการออมทรัพย์

อ่าน 20124 | ตอบ 1
ความหมายของการออมทรัพย์
            การออมทรัพย์ หมายถึง จำนวนเงินของรายได้ส่วนที่เหลือหลังจากฟักค่าใช้จ่าย หรือรายได้หักค่าใช้จ่าย ส่วนที่เหลือคือเงินออม ซึ่งจำนวนเงินออมคือส่วนของรายได้ที่เหลืออยู่
 
ความสำคัญของการออมทรัพย์
            การออมทรัพย์หรือเงินออม เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เป้าหมายของบุคคลซึ่งกำหนดไว้ในอนาคตบรรลุจุดประสงค์ เช่น กำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะต้องเปิดกิจการร้านขายขนมปังเล็ก ๆ เป็นของตนเองในอนาคตให้ได้ เงินออมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดให้เป้าหมายที่วางไว้เป็นจริงขึ้นมาได้ นอกจากนี้เงินออมยังสามารถใช้แก้ไขปัญหาความเดือกร้อนทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาบุคคลอื่น การออมทรัพย์จึงควรกระทำอย่างสม่ำเสมอ และเป็นกิจนิสัย
            สิ่งจูงใจในการออมคือ “เป้าหมาย” อย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคต ซึ่งได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งแน่นอนย่อมก่อให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะเก็บออมมากขึ้น เป้าหมายของแต่ละบุคคลอาจจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความต้องการเป็นสำคัญ ความหวังและความทะเยอะทะยานก็มีส่วนจูงใจในการออม เช่น ต้องการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีการศึกษาที่สูงขึ้น มีบ้านและที่ดินเป็นของตนเอง มีความสุขสบายในวัยชรา หรือมีความหวังที่จะให้ลูกหลานมีหลักฐานที่มั่นคง มีความก้าวหน้าในการงาน เป้าหมายในการออมที่แตกต่างกันจะเป็นสิ่งกำหนดให้จำนวนเงินออมและระยะเวลาในการออมทรัพย์แตกต่างกันไป

 
 การปฏิบัติเกี่ยวกับการออมทรัพย์ที่ดี
            การออมทรัพย์จะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้นควรจัดทำงบประมาณเงินสดส่วนบุคคล ซึ่งจะทำให้สามารถทราบได้ล่วงหน้าว่าจะมีการออมในแต่ละเดือนเป็นจำนวนเท่าใด เพื่อให้การออมทรัพย์ได้ผล ควรปฏิบัติดังนี้
            1. ทำงบประมาณรายได้รายจ่าย เพื่อจะได้รู้ว่าในเดือนนั้นมีเงินเหลือเก็บออมได้จำนวนเท่าใด
            2. หลังจากทำงบประมาณแล้วจะทำให้ทราบว่าจะต้องเก็บออมได้เดือนละเท่าใด แล้วให้แยกจำนวนเงินออมเพื่อนำไปฝากธนาคารทันที
            3. นำรายได้ที่เกิดจากการออม เช่น ดอกเบี้ย หรือเงินปันผลในกรณีเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ไปลงทุนต่อทันที เพื่อให้เงินออมงอกเงยยิ่งขึ้น
            4. นำเงินออกไปลงทุนเพื่อผลประโยชน์อย่างถูกวิธี โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
 
โครงสร้างตลาดการเงินในประเทศไทย
            หลังจากประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2540-2542 เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันกำลังได้รับการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาการผลิต การบริการ ของชุมชนและการส่งเสริมการส่งออก การขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น ทำให้การจับจ่ายมีสภาพคล่องและมีเงินออมจำนวนมาก สภาพการเงินที่เกี่ยวข้องตามโครงสร้างมีดังนี้
 
 
           จากโครงสร้างของตลาดเงินดังกล่าว สถาบันที่เกี่ยวข้องกับการออมทรัพย์ของประชาชนทั่วไปมีดังนี้
            ธนาคารพาณิชย์ (Commercial Bank) เป็นสถาบันการเงินที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสถาบันการเงินที่มีความสามารถระดมเงินฝากและให้สินเชื่อได้มากกว่าสถาบันการเงินอื่น ๆ ธนาคารพาณิชย์ตั้งขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2431 เป็นธนาคารของชาวต่างชาติ คือ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ต่อมาได้มีการจัดตั้งธนาคารของไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2447 ชื่อ บุคคลัภย์ ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นธนาคารไทยพาณิชย์
            ธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ คือ ทำหน้าที่รับฝากเงินชนิดจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือบัญชีกระแสรายวัน หรือจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลา และเงินฝากประจำ หรือนำเงินนั้นไปทำประโยชน์ในทางหนึ่งหรือหลายทาง เช่น ให้สินเชื่อแก่ลูกค้า ได้แก่ การกู้ยืมเงิน ซื้อ ซื้อลดตั๋วเงิน การรับช่วงซื้อลด ซื้อขายตั๋วแลกเงิน หรือตราสารเปลี่ยนมือ ตลอดจนซื้อขายปริวรรตเงินตราต่างประเทศ นอกจากนี้ยังประกอบธุรกิจอื่น ๆ เช่น เรียกเก็บเงินตามตั๋วเงิน การรับอาวัลตั๋วเงิน การออกเลตเตอร์ออฟเครดิต หรือการค้ำประกัน หรือธุรกิจทำนองเดียวกันได้ เมื่อได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย แต่จะประกอบธุรกิจหรือการค้าอื่นใดมิได้
            การประกอบธุรกิจในประเทศ
            1. การรับฝากเงิน ได้แก่ การฝากแบบออมทรัพย์ ฝากแบบประจำ และฝากแบบกระแสรายวัน ฯลฯ
            2. การให้กู้ยืมเงิน เช่น การให้กู้ยืมระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว
            3. การรับโอนเงิน เช่น การโอนดราฟต์ โอนทางโทรเลข โอนทางวิทยุ โอนทางโทรศัพท์ โอนทางเครื่องบริการเงินด่วน (A.T.M) และโอนทางอินเตอร์เน็ต ฯลฯ
            4. การเรียกเก็บเงินตามหนังสือตราสารให้ลูกค้า เช่น เช็ค ดราฟต์ และตราสารอื่น ๆ
            5. การซื้อลดตั๋วเงิน
            6. การซื้อขายพันธบัตร
            7. การออกหนังสือค้ำประกัน
            8. การให้เช่าตู้นิรภัย
            9. การให้บริการบัตรเครดิต และเช็คการันตี
            10. การให้บริการเช็คของขวัญ
            11. การให้บริการชำระค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ฯลฯ
 
ประเภทการรับฝากเงินของธนาคารพาณิชย์
            ประเภทของการรับฝากเงินของธนาคารพาณิชย์ ผู้ที่สนใจออมทรัพย์สามารถเลือกประเภทการฝากเงิน ได้ดังนี้
            1. การฝากเงินแบบออมทรัพย์ (Saving Deposit) เป็นการฝากเงินประเภทจ่ายคืนเมื่อทวงถาม ธนาคารจะออกสมุดคู่ฝาก (Saving Deposit Pass Book) ให้แก่ผู้ฝากหรือลูกค้าเพื่อใช้บันทึกรายการฝาก ถอนหรือโอนตามสภาพการหมุนเวียนของลูกค้าในการใช้จ่ายประจำวันได้ ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีด้วยเงินสดจำนวนขั้นต่ำ 100 บาทหรือใช้เช็คและตั๋วเงินประเภทต่าง ๆ ได้ และถอนเป็นเงินสดตามจำนวนที่ต้องการด้วยตนเองในเวลาทำการของธนาคาร ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ได้นำเอาระบบคอมพิวเตอร์มาพัฒนางาน และประยุกต์ใช้กับการให้บริการต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง เช่น การฝากและการถอนจากเครื่องบริการเงินด่วนหรือ A.T.M. ในเครือข่ายของธนาคารทุกแห่งได้ด้วยความสะดวกและรวดเร็ว นอกจากนี้ยังทำให้ธนาคารลดจำนวนพนักงานและค่าจ้างลงได้เป็นอย่างดี การฝากเงินแบบออมทรัพย์ ผู้ฝากจะได้ดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารซึ่งจะคำนวณดอกเบี้ยให้ทุกวันจากยอดคงเหลือประจำวันและนำฝากเข้าบัญชีให้ปีละ 2 ครั้ง เมื่อสิ้นงวดบัญชีคือสิ้นเดือนมิถุนายนและสิ้นเดือนธันวาคม สำหรับดอกเบี้ยที่ได้รับไม่ถึง 10,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี หากเกิน 10,000 บาท จะต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากหัก ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับจึงเหมาะสมสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่มีเงินเหลือเก็บ และต้องการออมทรัพย์ในที่ปลอดภัยและได้รับประโยชน์ตามสมควร
            2. การฝากแบบประจำ (Time Deposit) คือการนำเงินจำนวนหนึ่งไปฝากไว้กับธนาคารโดยกำหนดระยะเวลาครบกำหนดไว้แน่นอน เช่น ฝาก 3 เดือน ฝาก 6 เดือน หรือฝาก 12 เดือน เป็นต้น ซึ่งจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันไปตามระยะเวลาการฝาก สำหรับอัตราดอกเบี้ยเป็นเงินฝากประเภทนี้จะสูงกว่าเงินฝากประเภทอื่น ธนาคารจะออกสมุดคู่ฝากหรือใบรับฝากเงินประจำให้กับลูกค้าเพื่อบันทึกรายการฝากถอนและโอน การนำเงินมาเปิดบัญชีครั้งแรกบางธนาคารจะกำหนดขั้นต่ำไว้จำนวน 10,000 บาท จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เงินเหลือจ่ายในชีวิตประจำวันและต้องการออมเป็นเงินก้อน ส่วนดอกเบี้ยที่ได้รับจะถูกหักภาษีเงินฝาก ณ ที่จ่ายตามอัตราที่กฎหมายกำหนด
            3. การฝากแบบกระแสรายวัน (Demand Deposit) หรือการฝากแบบเดินสะพัด เป็นการฝากเงินประเภทจ่ายคืนเมื่อทวงถาม โดยธนาคารจะจ่ายเงินที่ลูกค้าฝากไว้กับธนาคารเมื่อลูกค้าทวงถาม เป็นการให้บริการที่สะดวกสบายทั้งการฝากและการถอน ในหนึ่งวันจะถอนกี่ครั้งก็ได้ไม่จำกัดจำนวนหากเงินในบัญชีมีเพียงพอต่อการถอน ดังนั้นยอดในบัญชีเงินฝากจึงมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และใช้ใบนำฝาก (Pay-in Ship) เป็นเอกสารสำหรับการฝากเงินและใช้เช็ค สำหรับการถอนเงินเมื่อผู้ฝากมาขอเปิดบัญชี ธนาคารจะมอบใบนำฝากและสมุดเช็คให้แก่ผู้ฝากทุกราย โดยธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียมและอากรแสตมป์ สำหรับการใช้เช็ค ปัจจุบันลูกค้าสามารถทำรายการนำฝากได้ทุกสาขาในระบบ On-Line หรือทำรายการผ่านบัตร A.T.M. ในเครือข่ายได้การนำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้จึงเป็นเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ มารวมไว้ในจุดเดียวกันเป็นระบบธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ มุ่งให้ลูกค้าบริการตนเอง (Self-Service Banking) ไม่จำเป็นต้องใช้พนักงาน
            การประกอบธุรกิจต่างประเทศ ได้แก่
            1. เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตสำหรับสั่งสินค้าเข้า
            2. ซื้อลดตั๋วเงินต่างประเทศค่าสินค้าออก
            3. เรียกเก็บเงินตามตั๋วเงินต่างประเทศ
            4. รับโอนเงินทางดราฟต์ โทรเลข โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ
            5. ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ
            6. ซื้อขายเช็คเดินทาง
 
ธนาคารออมสิน
            ธนาคารออมสิน (Saving Bank) เป็นสถาบันเพื่อการออมทรัพย์ ที่ส่งเสริมให้มีการประหยัดการใช้จ่ายในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ให้มีการออมทรัพย์แล้วนำเงินที่เก็บออมไปฝากธนาคาร โดยไม่คำนึงว่าเงินออมนั้นมีจำนวนมากน้อยเพียงใด ธนาคารออมสินก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรูปของคลังออมสิน สังกัดกรมพระคลังมหาสมบัติ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2456 และได้ดำเนินกิจการมานานจนกระทั่ง พ.ศ. 2472 ได้โอนสังกัดกรมไปรษณีย์โทรเลขต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ปรับปรุงธนาคารออมสินโดยดำเนินกิจการตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง คือ เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพแห่งสังคมในทางทรัพย์สิน ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2490 มีฐานะเป็นนิติบุคคล เริ่มกิจการในรูปออมสินจนถึงปัจจุบัน
 
วัตถุประสงค์ของธนาคารออมสิน
            ธนาคารออมสิน เป็นสถาบันการเงินของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของประชาชนและเป็นแหล่งเงินกู้ภายในประเทศของรัฐบาล เพื่อนำเงินออมไปใช้ในการสร้างสาธารณูปโภค และการพัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ อัตราเงินกู้ยืมต่ำเพื่อช่วยเหลือหน่วยราชการ และองค์การรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาด้านการเงิน นอกจากนี้ธนาคารออมสินยังให้กู้ยืมแก่เอกชนที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนในระยะสั้น การให้ประชาชนกู้ยืมเพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยในรูปของสินเชื่อสวัสดิการสำหรับข้าราชการ และพนักงานขององค์การของรัฐที่มีรายได้น้อย
 
บทบาทของธนาคารออมสิน
            1. ทำหน้าที่ระดมเงินออม ธนาคารออมสินเป็นสถาบันการเงินของรัฐทำหน้าที่ส่งเสริมการออมของประชาชน โดยจัดให้มีการรับฝากเงินและบริการประเภทต่าง ๆ เป็นแหล่งระดมเงินออมรายย่อยจากประชาชนที่สำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ในด้านการจัดหาสถานที่รับฝากเงินให้แก่ประชาชน เป็นการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งธนาคารออมสิน
            2. เป็นแหล่งเงินกู้ภายในประเทศของรัฐบาล โดยนำเงินที่รับฝากจากประชาชนมาลงทุนในการสนับสนุนเงินกู้ภายในประเทศให้รัฐบาล
            3. ส่งเสริมการออมทรัพย์ให้แก่ประชาชนได้จัดตั้งหน่วยงานทำหน้าที่ดำเนินการส่งเสริมการออมทรัพย์แก่ประชาชนในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง คือ กองการส่งเสริมการออมทรัพย์
            4. ส่งเสริมตลาดทุนและตลาดเงิน ธนาคารออมสินทำหน้าที่จำหน่ายพันธบัตรรัฐบาล เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อหลักทรัพย์รัฐบาลเพราะมีสาขาจำนวนมากทั่วประเทศ และช่วยกระตุ้นให้ประชาชนมาสนใจลงทุนในหลักทรัพย์มากขึ้น นอกจากเป็นการส่งเสริมตลาดทุนแล้วยังเป็นทางหนึ่งในการช่วยระดมเงินให้แก่รัฐบาลด้วย
            5. ดำรงทรัพย์สินสภาพคล่อง เพื่อคุ้มครองผู้ฝากเงินและสามารถจ่ายเงินให้แก่ผู้ฝากได้ทันทีธนาคารออมสินจะดำรงสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องเป็นอัตราร้อยละขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
 
การดำเนินงานของธนาคารออมสิน
            การดำเนินงานของธนาคารออมสินได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 ดังนี้
            1. รับฝากเงินออมสิน
            2. ออกพันธบัตรออมสินและสลากออมสิน
            3. รับฝากเงินออมสินเพื่อสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว
            4. ทำการรับจ่ายและโอนเงิน
            5. ซื้อหรือขายพันธบัตรรัฐบาลไทย
            6. ลงทุนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ซึ่งรัฐมนตรีอนุญาต
            7. การออมสินอื่น ๆ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้
            8. กิจการอันพึงเป็นงานธนาคาร ตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนดไว้ ทั้งนี้ให้ประกอการได้ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ธนาคารออมสินได้ประกอบธุรกิจเพิ่มตามพระราชกฤษฎีกาธนาคารออมสิน พ.ศ. 2491
            1. รับฝากเงินประจำหรือกระแสรายวัน
            2.ออกดราฟต์ที่กำหนดให้ใช้เมื่อทวงถาม
            3. การออก ซื้อ ขาย หรือเก็บเงินตามตั๋วเงินหรือตราสารเปลี่ยนมือ
            ปัจจุบันธนาคารออมสินได้ขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจอย่างกว้างขวางดังนี้ คือ
            1. ธุรกิจและบริการ ธนาคารออมสินดำเนินงานด้านธุรกิจและการบริการดังนี้
               1.1 การรับฝากเงิน ธนาคารออมสินได้ดำเนินการรับฝากเงินประเภทต่าง ๆ คล้ายกับธนาคารพาณิชย์ ดังนี้
                        (1) ประเภทเผื่อเรียกหรือออมทรัพย์
                        (2) ประเภทประจำ ได้แก่ ฝากประจำ 6 เดือน ฝากประจำ 12 เดือน และฝากประจำ 24 เดือน
                        (3) ประเภทกระแสรายวัน
                        (4) ประเภทสงเคราะห์ทวีคูณ
                        (5) ประเภทเคหะสงเคราะห์
               1.2 จำหน่ายตราสารประเภทต่าง ๆ คือ
                        (1) พันธบัตรออมสิน
                        (2) สลากออมสินพิเศษ
               1.3 ธุรกิจประกันชีวิต ธนาคารออมสินได้ดำเนินธุรกิจด้านประกันชีวิตดังนี้
                        (1) ประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว
                        (2) ประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบเพิ่มพูนทรัพย์
                        (3) ประเภทสงเคราะห์ชีวิตและการศึกษา
               1.4 การบริการ ธนาคารออมสินให้บริการประชาชนดังนี้
                        (1) การรับจ่ายและโอนเงิน
                        (2) จำหน่ายตั๋วแลกเงินเพื่อเดินทางภายในประเทศ
                        (3) จำหน่ายตั๋วแลกเงินของขวัญ
                        (4) ให้เช่าตู้นิรภัย
               1.5 การให้กู้ยืมและเบิกเงินเกินบัญชี
                        (1) ให้กู้ยืมโดยใช้สลากพิเศษค้ำประกัน
                        (2) ให้กู้ยืมโดยใช้เงินฝากประจำ 12 เดือนค้ำประกัน
                        (3) เบิกเงินเกินบัญชีโดยใช้เงินฝาก 12 เดือนค้ำประกัน
                        (4) สินเชื่อสวัสดิการ
                        (5)  สินเชื่อออมสินสงเคราะห์
 
 
               1.6 การอำนวยความสะดวกด้านอื่น ๆ ให้แก่ผู้ฝากเงิน คือ
                        (1) บริการฝาก-ถอน เงินต่างสำนักงานได้ทุกสาขาในกรุงเทพและปริมณฑล
                        (2) บริการรับฝากเงินเป็นกลุ่ม โดยส่งพนักงานไปรับฝากเงินในสำนักงาน
                        (3) บริการจ่ายเงินเดือนแทนให้ส่วนราชการ
                        (4) รับบำนาญแทนข้าราชการเกษียณอายุ
                        (5) รับชำระค่าสาธารณูปโภคและชำระภาษี
            2. การลงทุนและแสวงหาผลประโยชน์ มีดังนี้
               2.1 ลงทุนในหลักทรัพย์รัฐบาล
               2.2 ให้กู้ยืมแก่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ
               2.3 ให้กู้ยืมแก่ประชาชน สำหรับจัดหาที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ และการส่งเสริมการศึกษา ตลอดจนให้กู้ยืมเบิกเงินเกินบัญชี และให้สินเชื่อสวัสดิการสำหรับข้าราชการและพนักงานของรัฐที่มีรายได้น้อย เป็นต้น
 
สหกรณ์ออมทรัพย์
            สหกรณ์ออมทรัพย์จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์รับฝากเงินจากสมาชิกและให้สมาชิกกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ย ซึ่งไม่ได้คำนึงผลกำไร แต่จะนำผลกำไรจากการดำเนินงานมาแบ่งปันให้สมาชิกตามข้อมูลค่าหุ้นที่ถือทุกปี สหกรณ์ออมทรัพย์ที่จั้งตั้งขึ้นในประเทศไทยเป็นสหกรณ์ชนิดจำกัดความรับผิดชอบ คือสหกรณ์ข้าราชการจำกัดสินใช้ ได้จัดตั้งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งแรกในประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2492 ต่อมาได้ขยายไปยังกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และองค์กรอื่น ๆ
 
ประวัติของสหกรณ์ออมทรัพย์
            สหกรณ์ออมทรัพย์เกิดจากความต้องการความร่วมมือกันของสมาชิกในการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เนื่องจากผู้ทำงานมีรายได้คือเงินเดือนประจำเป็นรายได้จำกัด บางครั้งต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อการรักษาพยาบาล หรือเหตุฉุกเฉิน ฯลฯ จึงจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปด้วยความยากลำบากและต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูง บุคคลเหล่านี้จึงรวมตัวเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยรวบรวมเงินออมของแต่ละคนมาช่วยเหลือบุคคลที่ต้องการจะกู้ยืมเงินไปใช้ ให้เสียดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำ ผลกำไรเป็นของสมาชิกทุกคน หลักการดังกล่าวจึงเป็นรูปการดำเนินงานที่เรียกว่าสหกรณ์ออมทรัพย์
 
วัตถุประสงค์ของสหกรณ์ออมทรัพย์
            สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นสถาบันการเงินที่เกี่ยวกับการออมทรัพย์และช่วยเหลือทางด้านการเงินซึ่งกันและกันในหมู่สมาชิก โดยไม่คำนึงถึงกำไร แต่จะมีกำไรจากการดำเนินงาน แล้วจัดสรรกำไรคืนให้กับสมาชิก การดำเนินกิจกรรมของสหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับการยกเว้นภาษี เนื่องจากดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่มุ่งหวังการแสวงหาผลกำไรและมีวัตถุประสงค์สำคัญ ดังนี้
            1. ส่งเสริมให้สมาชิกมีการออมทรัพย์ สามารถสะสมส่วนของรายได้ในทางที่มั่นคงและได้รับประโยชน์พอสมควร
            2. รับฝากเงินจากสมาชิกทั้งประเภทออมทรัพย์และประเภทประจำ
            3. ให้เงินกู้แก่สมาชิกตามสภาพความจำเป็นในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
            4. ให้บริการประเภทอื่นแก่สมาชิก เช่น จัดหาที่ดิน อาคารหรือที่พักอาศัยให้กับสมาชิกในรูปการเช่าซื้อในราคาที่เหมาะสม ตลอดจนรับฝากเงินในรูปของการออมทรัพย์เพื่อการประกันชีวิต ฯลฯ
 
หลักการของสหกรณ์ออมทรัพย์
            หลักการของสหกรณ์ออมทรัพย์มีหลักการเช่นเดียวกับสหกรณ์ทั่วไปคือ ยึดหลักความสมัครใจ หลักประชาธิปไตย หลักความยุติธรรม หลักการศึกษา ตลอดจนหลักความช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สหกรณ์ออมทรัพย์ได้ดัดแปลงหลักการสำหรับนำมาใช้ในการดำเนินงานดังนี้
            1. เป็นสมาชิกด้วยความสมัครใจและไม่กีดกันการเข้าเป็นสมาชิกในหน่วยงานนั้น ๆ
            2. ควบคุมตามหลักประชาธิปไตยและดำเนินการอิสระ
            3. จำกัดอัตราดอกเบี้ยทุนเรือนหุ้น
            4. แบ่งส่วนเฉลี่ยคืนตามส่วนธุรกิจที่ทำกับสหกรณ์ และจัดสรรกำไรสุทธิเพื่อการพัฒนาสหกรณ์ และการจัดบริการเพื่อสาธารณประโยชน์
            5. ส่งเสริมการศึกษาทางสหกรณ์
            6. การร่วมมือระหว่างสหกรณ์
 
รูปแบบของสหกรณ์ออมทรัพย์
            สหกรณ์ออมทรัพย์แบ่งออกเป็น 9 รูปแบบ คือ
            1. สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ
            2. สหกรณ์ออมทรัพย์ทหาร
            3. สหกรณ์ออมทรัพย์ครู
            4. สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ
            5. สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัย
            6. สหกรณ์ออมทรัพย์รัฐวิสาหกิจ
            7. สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาล
            8. สหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนราชการ
            9. สหกรณ์ออมทรัพย์เอกชนและอื่น ๆ
 
การดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์
            การดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ ได้รับทุนมาจากการถือหุ้นของสมาชิกเป็นรายเดือน การรับฝากเงินจากสมาชิกในรูปของเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ เงินทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์จะนำไปให้สมาชิกกู้ยืมหรือนำไปฝากสถาบันการเงินอื่น เพื่อหารายได้ซึ่งรายได้ของสหกรณ์จะมาจากดอกเบี้ยของเงินกู้ยืม ดอกเบี้ยเงินฝาก ฯลฯ ส่วนรายจ่าย ได้แก่ ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าสาธารณูปโภค และค่าจ้างเจ้าหน้าที่ เป็นต้น
            สำหรับการออมทรัพย์สมาชิก สหกรณ์สามารถออกทรัพย์ได้ 2 รูปแบบ คือ
            1. การซื้อหุ้น โดยทั่วไปสหกรณ์ออมทรัพย์จะกำหนดมูลค่าหุ้นไว้ หุ้นละ 10 บาท และกำหนดเกณฑ์ให้สมาชิกทุกคนส่งเงินค่าหุ้นเป็นรายเดือนให้กับสหกรณ์เป็นอัตราส่วนตามจำนวนเงินเดือนของสมาชิก ซึ่งสมาชิกอาจซื้อหุ้นเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ หรือ “ซื้อ” ในอัตราส่วนที่ถูกกว่าปกติได้โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เงินค่าหุ้นสมาชิกจะขอถอนหรือโอนให้บุคคลอื่นมิได้จนกว่าจะลาอกจากการเป็นสมาชิก
            2. การรับฝากเงิน สหกรณ์ออมทรัพย์ส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักการออมทรัพย์ โดยให้สมาชิกฝากเงินสหกรณ์ได้ 2 ประเภท คือ เงินฝากประเภทออมทรัพย์ และเงินฝากประเภทประจำ ซึ่งหลักการฝากเงินจะคล้ายคลึงกับการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับสมาชิกขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์แต่ละแห่งเป็นสำคัญ
 
บริษัทประกันชีวิต
            การประกันชีวิต เป็นวิธีการออมทรัพย์ประเภทหนึ่งคือเป็นการประกันให้ด้านการเงินสำหรับผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ โดยบริษัทประกันมีหน้าที่เก็บเบี้ยประกันและรับผิดชอบ การจ่ายเงินผลประโยชน์ตามที่กรมธรรม์ระบุไว้ การประกันชีวิตเป็นสัญญาระยะยาว ซึ่งมีเงินสำรองประกันชีวิตของบริษัทเปรียบเสมือนทรัพย์ที่มีผู้เอาประกันฝากไว้ บริษัทประกันชีวิตจึงมีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายเงินในอนาคตเป็นเงินสด ธุรกิจประกันชีวิตเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2471 ได้มีการตราพระราชบัญญัติควบคุมการค้าขายอันมีผลกระทบถึงความปลอดภัยและความผาสกแห่งสาธารณชน โดยกำหนดว่าบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันภัยจะก่อตั้งได้ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ปี พ.ศ. 2473 มีบริษัทประกันชีวิตจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 4 บริษัท ส่วนบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกของไทยคือบริษัทไทยประกันชีวิต ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ. 2485
 
วัตถุประสงค์ของการประกันชีวิต
            เพื่อรวบรวมผู้มีความประสงค์เข้าร่วมรับผิดชอบในส่วนเฉลี่ยความเดือดร้อนและรวบรวมเงินเพื่อนำไปให้กับบุคคลที่ประสบความเดือดร้อน ในกรณีที่บุคคลบางคนถึงแก่กรรม หรือครบตามกำหนดของสัญญาที่ตกลงไว้
 
 
บทบาทของการประกันชีวิต
            บทบาทของการประกันชีวิตที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มีดังนี้
            1. บทบาทของด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจประกันชีวิตเป็นธุรกิจในรูปของการออมทรัพย์อย่างหนึ่งแต่มีคุณสมบัติแตกต่างไปจากการออมทรัพย์ประเภทอื่นเพราะการประกันชีวิต เป็นการออมทรัพย์ในระยะยาว สามารถนำเงินออมเหล่านั้นไปลงทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งต้องใช้ทุนจำนวนมากและต้องใช้ระยะเวลาในการคืนทุน การระดมทุนของบริษัทประกันชีวิตจึงเป็นปัจจัยสำหรับการดำเนินงานมากกว่าการออมประเภทอื่น ๆ
            2. บทบาททางด้านสังคม การประกันชีวิตมีบทบาทต่อสังคมเพราะทำให้สังคมมีเสถียรภาพทำให้ปราศจากความกังวลต่ออนาคตของครอบครัวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นแนวทางสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในการสร้างสวัสดิการด้วยการประกันสุขภาพ อุบัติเหตุ หรือการเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติงาน ทำให้ลดความขัดแข้งทางสังคม
 
รูปแบบของการประกันชีวิต
            การประกันชีวิตในประเทศไทย แบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 6 ประเภทคือ
            1. การประกันแบกำหนดระยะเวลา คือการประกันที่สัญญาคุ้มครองการเสียชีวิตของผู้เอาประกันภายในระยะเวลา เช่น กำหนดเวลา 1 ปี 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี การประกันชีวิตแบบนี้จะให้ความคุ้มครองเพียงอย่างเดียว หากผู้เอาประกันเสียชีวิตในระหว่างสัญญา ผู้รับประโยชน์ก็จะได้รับจำนวนเงินที่เอาประกัน แต่ถ้าหากผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่ครบตามสัญญาหรือครบกำหนดตามกรมธรรม์ บริษัทจะได้ค่าเบี้ยประกัน การประกันชีวิตแบบนี้เบี้ยประกันจะต่ำกว่าการประกันแบบอื่น ๆ ซึ่งจะจ่ายเบี้ยครั้งเดียวหรือจ่ายเป็นงวด ๆ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ จึงเหมาะสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการความคุ้มครองเป็นสำคัญ
            2. การประกันแบบตลอดชีพ คือการประกันชีวิตแบบไม่กำหนดขอบเขตของอายุสัญญาไว้อย่างชัดเจน แต่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันตลอดชีวิต เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตบริษัทประกันจะจ่ายเงินที่เอาประกันให้แก่ผู้รับประโยชน์ การประกันแบนี้ให้ประโยชน์ด้านการคุ้มครองเป็นสำคัญและประโยชน์ต่อการสะสมทรัพย์เป็นอันดับรอง เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปที่สามารถเก็บออมได้บ้าง เนื่องจากเบี้ยประกันสูงกว่าการประกันแบบกำหนดระยะเวลา การประกันแบบตลอดชีวิตมีหลายประเภทคือ การประกันแบบตลอดชีพชำระเบี้ยประกันตลอดชีพ การประกันแบบตลอดชีพจำกัดระยะเวลาชำระเบี้ยประกันและการประกันแบบตลอดชีพแปรสภาพได้ เป็นต้น
            3. การประกันแบบสะสมทรัพย์ เป็นการประกันที่มีกำหนดเวลาของสัญญาที่แน่นอน หากผู้เอาประกันชีวิตอยู่ครบอายุของสัญญาก็จะได้รับเงินซึ่งเอาประกัน แต่ถ้าเสียชีวิตในระหว่างสัญญามีผลบังคับผู้รับประโยชน์จะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน การประกันแบบนี้มี 2 ลักษณะ คือ
                 3.1 การประกันแบบกำหนดระยะเวลา คือ ข้อสัญญาที่ผู้รับประกันจะจ่ายจำนวนเงินที่เอาประกันให้ ถ้าผู้เอาประกันเสียชีวิตในระหว่างสัญญามีผลบังคับ
                 3.2 การประกันแบบสะสมทรัพย์แท้จริง คือ ข้อสัญญาที่ว่าผู้รับประกันจะจ่ายจำนวนเงินที่เอาประกันให้ ถ้าผู้เอาประกันมีชีวิตรอดอยู่จนถึงระยะเวลาที่กำหนดไว้
                 การประกันแบบสะสมทรัพย์ จึงเป็นที่นิยมมากกว่าแบบอื่น ๆ
            4. การประกันแบบเงินได้ประจำ หรือการประกันแบบบำนาญ คือ สัญญาที่กำหนดข้อตกลงไว้ว่า บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นรายได้สำหรับเลี้ยงชีพให้แก่ผู้เอาประกันโดยจ่ายเป็นงวด ๆ อย่างสม่ำเสมอภายในช่วงเวลาหนึ่งที่ระบุไว้ในสัญญา ผู้เอาประกันจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันให้แก่ผู้รับประกันเป็นงวด ๆ ตามที่กำหนดหรือชำระเพียงครั้งเดียวก็ได้ การประกันแบบนี้จะจ่ายเงินอันเกิดจากการอยู่รอดมิใช่เกิดจากการเสียชีวิต   
            5. การประกันกลุ่ม เป็นสัญญาที่ให้ความคุ้มครองของกลุ่มคนภายใต้สัญญากรมธรรม์ฉบับเดียวโดยสัญญากรมธรรม์ทำขึ้นระหว่างผู้รับประกันกับผู้มีอำนาจในการทำประกันในนามกลุ่ม การทำประกันแบบนี้จะต้องมีจำนวนคนไม่น้อยกว่า 10 คน นิยมในกลุ่มลูกจ้าง ซึ่งเสียค่าเบี้ยประกันต่ำกว่าแบบอื่น
            6. การประกันแบบอุตสาหกรรม เป็นการประกันที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้มีรายได้น้อย ไม่สามารทำประกันรูปแบบอื่นได้ ส่วนใหญ่ผู้เอาประกัน ได้แก่ ลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม การชำระเบี้ยจะชำระเป็นรายเดือน หรือรายสัปดาห์ เป็นต้น
 
 
ประโยชน์ของการประกันชีวิต
            1. ประโยชน์ต่อประชาชน การประกันชีวิตก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ดังนี้
                 1.1 ประโยชน์ในการออมทรัพย์ การประกันชีวิตแบบตลอดชีพหรือแบบสะสมทรัพย์ผู้เอาประกันจะต้องจ่ายเบี้ยประกันให้กับบริษัทประกันชีวิตอย่างสม่ำเสมอ ตามจำนวนที่ตกลงไว้เงินจำนวนดังกล่าวจึงคล้ายกับการออมทรัพย์ เมื่อผู้เอาประกันชีวิตอยู่ครบตามสัญญาก็จะได้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ทำให้มีรายได้เมื่อเข้าสู่วัยชรา เป็นการปลูกฝังนิสัยให้รู้จักประหยัดเพื่ออนาคตที่ดี
                 1.2 การให้ความคุ้มครองต่อครอบครัว การเสียชีวิตของผู้นำในครอบครัวย่อมสร้างความเดือดร้อนให้กับสมาชิก โดยเฉพาะด้านการเงินหากมีการทำประกันชีวิตไว้ก็จะช่วยลดความเดือดร้อนลงไปได้บางส่วน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าจัดการศพ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยไม่ต้องไปพึ่งพาบุคคลอื่น ทำให้เกิดความรับผิดชอบต่อครอบครัว
                 1.3 ประโยชน์ด้านการลงทุน การประกันชีวิตเป็นการลงทุนซื้อหลักทรัพย์ชนิดหนึ่งเพราะจะทำให้เกิดดอกผลแก่ผู้เอาประกันเช่นเดียวกับการฝากเงินในสถาบันการเงินอื่น ๆ ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างที่เงื่อนไขและวิธีการ ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยที่จะได้รับ
                1.4 ประโยชน์ด้านความมั่นคงของรายได้ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เอาประกันการประกันชีวิตจึงคุ้มครองผู้เอาประกันให้มีรายได้ระหว่างเจ็บป่วย การทุพพลภาพหรือแก่ชรา ฯลฯ
            2. ประโยชน์ต่อธุรกิจ ธุรกิจสามารถกู้ยืมจากเงินบริษัทประกันชีวิตเพื่อนำไปขยายกิจการต่าง ๆ ได้ ขณะเดียวกันยังช่วยคุ้มครองธุรกิจไม่ให้เกิดความเสียหายกระทบกระเทือนทั้งด้านการเงินและความศรัทธาแก่บุคคลภายใน เช่น พนักงาน และบุคคลภายนอก
            3. ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ธุรกิจประกันชีวิตเป็นธุรกิจการออมทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ระดมเงินออมจากประชาชนและธุรกิจในระยะยาว ทำให้ประเทศมีเงินทุนที่นำมาใช้ในการพัฒนาประเทศได้ เช่น การสร้างถนน เขื่อน สนามบิน และกิจการสาธารณูปโภคโดยรวมของประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยและมีการเก็บออมเพื่อคุ้มครองตนเองและครอบครัว เป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี        
            การเก็บออมเงินหรือการออมทรัพย์ไว้กับตนเองย่อมไม่ปลอดภัยและทำให้สูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับ ดังนั้นการออมทรัพย์ที่ดีควรเก็บออมไว้ในที่ที่ปลอดภัยและมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยการฝากกับสถาบันการเงินบางแห่งไว้ เช่น ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน สหกรณ์ออมทรัพย์ และบริษัทประกันชีวิต หรือจะเก็บออมและลงทุนในรูปของการซื้อหลักทรัพย์หรือตราสารที่มีความมั่นคง ก่อให้เกิดรายได้และสามารถเปลี่ยนมาเป็นเงินสดได้ง่าย เช่น การซื้อสลากออมสิน พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรออมทรัพย์ต่าง ๆ และหน่วยลงทุนกองทุนรวม เป็นต้น
 
 
ความคิดเห็น :
1
อ้างอิง

Sue
 
Sue [68.202.141.xxx] เมื่อ 28/02/2020 03:48
ความคิดเห็นของผู้เข้าชม
ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น :
สถานะ : รหัสผ่าน :
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง :
รหัสความปลอดภัย :